บทเรียน ช่วย 13 นักฟุตบอลทีมหมูป่า ของท่านผู้ว่าฯ เชียงราย ถึง ผู้บริหารองค์กรทุกองค์กร
เป็นเรื่องที่ใครไม่กล่าวขวัญคงเป็นไปไม่ได้ ในกรณีภารกิจค้นหา 13 นักฟุตบอลทีมหมูป่า ติดถ้ำหลวง ขุนน้ำนางนอน จังหวัดเชียงราย
เป็นเรื่องที่คนไทยทั้งประเทศให้ความสนใจ เพราะนอกจากความยากลำบากของการเข้าออกถ้ำหลวง ไหนจะมีทั้งเรื่องน้ำ เรื่องฝนที่ตกลงมา ทั้งมืด อากาศหายใจก็น้อย เชื่อว่าแม้ในสถานการณ์ปกติก็ไม่มีใครอยากจะเข้าไปในถ้ำที่มีสภาพเช่นนี้ แต่บทเรียนหนึ่งที่ผู้นำ หรือผู้บริหารองค์กรได้รับจากการแก้ไขสถานการณ์เช่นนี้ คือบทเรียนของท่านผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงราย นายณรงค์ศักดิ์ โอสถธนากร ไม่กล่าวชื่อท่านผู้ว่าฯ ไม่ได้แล้วในวินาทีนี้ เพราะท่านคือ ฮีโร่ในดวงใจพวกเราคนไทยทั้งประเทศ ในการบริหารสถานการณ์ที่วิกฤต คับขัน มีความยากลำบาก มีตัวแปรหลายตัวที่ควบคุมได้ยากมาก โดยเฉพาะเรื่องของสภาพดินฟ้าอากาศ ที่มีฝนกระหน่ำตกมาในช่วงแรก ๆ ที่เด็กเข้าไปในถ้ำ มีกลุ่มคนมากหน้าหลายตาที่ยื่นมือเข้ามาช่วย ซึ่งเป็นการดี แต่ถ้าการบริหารจัดการที่ไม่ดี แล้วมีคนเข้ามามากอาจกลายเป็นปัญหาทำให้งานล่าช้า เป็นอุปสรรคได้ ..
ในฐานะที่หลายคนเป็นผู้นำหรือผู้บริหารองค์กร ลองมาดูว่าได้อะไรจากบทเรียนภารกิจนี้บ้าง เป็นบทเรียนราคาแพง สำหรับผู้บริหารที่น่าจะเรียนรู้และเตือนตนเองเมื่อต้องไปบริหารองค์กร เพราะชีวิตจริงของการเป็น ผู้นำหรือบริหาร นั้น เราไม่สามารถเลือกสถานการณ์ที่จะบริหารได้ แต่ต้องบริหารได้ทุกสถานการณ์ต่างหาก และที่สำคัญคือ ต้องบริหารจัดการให้ได้ดีในทรัพยากรที่จำกัดทุกอย่าง โดยเฉพาะเรื่องของเวลา เพราะต้องทำงานแข่งกับเวลา จะมามัวเกี่ยงงอนการทำงานกัน เหมือนในหลายองค์กรไม่ได้ ทุนทรัพย์ พื้นที่การปฏิบัติงานที่คับแคบ มีอุปสรรคมากมาย..
หลักการบริหารจัดการของผู้นำ หรือ ภาวะผู้นำ ซึ่งท่านผู้ว่า ฯ เชียงราย นำมาใช้ตลอดเวลาคือ ต้องคำนึงถึง ประสิทธิภาพ เป็นการทำงานต้องคำนึงถึงความละเอียด แม่นยำ คุณภาพให้มีข้อผิดพลาดที่น้อยที่สุด ประสิทธิผล คือการให้ได้มาซึ่งผลลัพธ์เป็นที่น่าพึงพอใจและสุดท้ายการใช้ทรัพยากรต้องเป็นไปอย่างคุ้มค่า ซึ่งบทเรียนนี้ทำให้ได้เรียนรู้หลักการที่สำคัญสำหรับผู้นำหรือผู้บริหารดังนี้
1.หลักการวางแผน (Planning)
ในการทำภารกิจนี้ การวางแผนเป็นเรื่องที่สำคัญและในการตัดสินใจทำงานอะไรลงไป ทุกทีมงานต้องมีการวางแผน ในแต่ละทีมจะต้องมีความรับผิดชอบในภาระหน้าที่ของตนเองและมีการวางแผนให้ไปในทิศทางเดียวกัน มีเป้าหมายที่จะทำให้สำเร็จให้ได้ ซึ่งในแต่ละหน่วยงานจะมีการวิเคราะห์ปัญหาอุปสรรคหน้างานตลอด มีการวางแผนจากภาพใหญ่ลงไปในแต่ละหน่วยงานย่อย ๆ ลงไป
2.หลักการยืดหยุ่น (Flexible)
ยังจำภาพได้ว่า การขุดเจาะน้ำบาดาล เพื่อสูบน้ำออกจากถ้ำนั้นเป็นเป็นเรื่องที่ยากมาก ทีมงานพยายามที่จะขุดเจาะในแนวเฉียงซึ่งทำได้ยาก การปรับแผนต้องทำทันที ความยืดหยุ่นเป็นอีกปัจจัยที่ทำให้ภารกิจนี้ประสบความสำเร็จ ในการบริหารจัดการนั้นบางครั้งต้องมีการปรับแผนการต่าง ๆ ให้ตรงกับสถานการณ์ที่เป็นจริงทุกวินาที เพื่อให้ภารกิจที่สำคัญนี้สำเร็จลุล่วง
3.การวางระเบียบแบบแผน (Standard)
ในช่วงต่อมา มีผู้คนมากมายหลายภาคส่วนเข้ามาให้ความช่วยเหลือ ซึ่งก็เป็นการดี แต่ความสำคัญคือต้องทำให้ทุกส่วนงานเข้าใจถึงระเบียบแบบแผนในการทำงาน ไม่เช่นนั้น จากคำว่าช่วยเหลืออาจกลายเป็นปัญหาอุปสรรค การวางระเบียบ เช่นการเดินรถ การจอดรถ โดยที่สำคัญคือไม่มีข้อยกเว้น ทุกคนต้องปฏิบัติไปในแนวทางเดียวกัน เพื่อทำให้การทำงานได้ง่ายขึ้น สะดวกขึ้น มีการแบ่งโซนการเข้าออก พื้นที่ผู้สื่อข่าว พื้นที่ผู้ปฏิบัติงาน และอื่น ๆ
4.การสื่อสาร (Communication)
การทำงานใหญ่เป็นไปไม่ได้เลย ที่จะไม่มีการสื่อสาร และการสื่อสารที่มีประสิทธิภาพ คือการสื่อสารที่จะทำให้เข้าใจซึ่งกันและกัน ในการปฏิบัติงานนี้มาจากหลายส่วนงาน กระบวนการสื่อสารต้องทำอย่างระมัดระวัง ยิ่งเหนื่อยมาก ยิ่งมีโอกาสกระทบกระทั่งกันสูงมาก การสื่อสารจึงเป็นเรื่องที่สำคัญไม่ว่าจะเป็นการสื่อสารกันเองภายในทีมงาน หรือระหว่างหน่วยงาน และสำคัญยิ่งคือการสื่อสารกับบุคคลภายนอก ในภารกิจนี้จะเห็นได้ว่า เมื่อเป้าหมายการทำงานชัด ทุกคนปฏิบัติหน้าที่หรือสื่อสารในวงแคบ ๆ คือในเรื่องงานที่ต้องทำภารกิจบรรลุเป้าหมาย ก็จะทำงานเดินหน้า อาจมีการกระทบกระทั่งบ้าง แต่สุดท้ายคือเข้าใจกัน เพราะทุกคนมีเป้าหมายเดียวกันคือ ช่วยทีม นักฟุตบอลหมูป่าออกจากถ้ำ
5.การสร้างแรงจูงใจ (Motivation)
ได้มีโอกาสชมคลิปตอนที่ผู้ว่าสั่งการทีมงาน ด้วยการกระตุ้นให้ทีมงานฮึกเหิมในการปฎิบัติหน้า ด้วยวลีเด็ดที่ว่า “ให้คิดว่าเด็กทั้ง 13 คน เปรียบเสมือนลูกหลานของเราเอง” เชื่อว่าทุกคนฟังแล้วก็สัมผัสได้ถึงความมุ่งมั่น ความต้องการที่จะทำให้ภารกิจลุล่วงได้ ในการบริหารจัดการนี้ การสร้างแรงจูงใจให้ฮึกเหิม ไม่ใช่ที่จะคอยบั่นทอนกำลังใจของทีมงาน ถือเป็นภารกิจอันสำคัญยิ่งของผู้ที่จะเป็นผู้บริหารทีมงาน
6.มองที่เป้าหมายมากกว่าเรื่องส่วนตัว (Target Oriented)
ในสภาพการทำงานนั้น จะเห็นได้ว่า อาจจะมีข้อบาดหมางกันบ้าง เช่นในทีมงานเดียวกัน คนนั้นไม่ชอบคนนี้ หรือในแต่ละหน่วยงาน ในการทำงานนั้น ไม่สามารถที่จะจัดให้ทีมงานที่ไม่มีปัญหากันมาทำร่วมกัน แต่จะทำอย่างไรให้ทุกคนทำงานร่วมกันได้อย่างมีประสิทธิภาพ การมองที่ปัญหาของหน่วยงานหรือเป้าหมายของความสำเร็จเพื่อที่จะมุ่งมั่นทำให้ได้ มากกว่าการจะมองเรื่องปัญหาหรือความสัมพันธ์ส่วนตัวมาเป็นเรื่องที่สำคัญ เพราะอาจทำให้ภารกิจที่ตั้งใจไว้ไม่สำเร็จ เพราะมัวแต่มาแก้ปัญหาที่เกิดขึ้น ถ้าเป็นเช่นนั้น ก็จะทำให้งานล่าช้า
จะเห็นได้ว่าทีมงานผู้สื่อข่าวต้องการได้ข่าว แต่ก็ให้ความร่วมมือที่จะอยู่ในพื้นที่ที่เขาจัดไว้ให้สำหรับผู้สื่อข่าวเพราะเกรงว่าจะไปรบกวนการทำงาน ยังจำภาพได้ถึงตอนผู้สื่อข่าวทุกช่อง ต้องเดินหลบไปมาเพื่อไม่ให้ตนเองไปรบกวนการทำงานของผู้ปฏิบัติงาน อย่างนี้น่าชื่นชม ว่าเป้าหมายใหญ่ย่อมมีความสำคัญกว่าเรื่องส่วนตัว
7.การควบคุม (Control)
ในการทำงานภารกิจนั้นจะมีแผนงานต่าง ๆ ออกมามากมายเป็นแผนงานหลัก แผนงานย่อย จึงมีโอกาสมาก ที่แต่ละแผนงานนั้นจะไม่ไปในทิศทางเดียวกัน แต่เมื่อไรก็ตามที่แผนงานไปในในทิศทางเดียวกันแล้ว ในช่วงฏิบัติงานนั้น ก็มีโอกาสที่จะทำให้แผนงานนั้น ไม่เป็นไปตามที่วางไว้ การควบคุมเป็นเครื่องมือที่สำคัญของผู้บริหารที่จะทำให้ภารกิจที่สำคัญนี้สำเร็จลุล่วง เพราะฉะนั้นจะเห็นได้ว่า ในระหว่างการปฏิบัติภารกิจ ช่วยน้อง13 นักฟุตบอลทีมหมูป่า ออกจากถ้ำหลวง ขุนน้ำนางนอน ก็จะมีมาตรการต่าง ๆ นำมาใช้ในการควบคุมให้เป็นไปตามภารกิจหรือแผนการที่วางไว้
สังเกตได้จากคำสัมภาษณ์ช่วงหนึ่งที่ท่านผู้ว่าฯ บอกเมื่อสั่งการแล้วต้องคอยติดตามผลว่าจะเป็นอย่างที่สั่งไปหรือไม่ มีปัญหาอุปสรรคใดบ้าง เพื่อปรับแก้ตามสถานการณ์ที่เป็นจริงได้อย่างทันท่วงที การควบคุมจึงเป็นเครื่องมือที่สำคัญในการบริหารทีมงาน ที่ผู้นำจำเป็นต้องมี
8.การทำงานเป็นทีม (Teamwork)
ข้อสุดท้ายเป็นหัวใจสำคัญในภารกิจช่วยน้อง13 นักฟุตบอลทีมหมูป่า ออกจากถ้ำหลวง ขุนน้ำนางนอน เพราะทุกภาคส่วนต่างให้ความช่วยเหลือ จนไม่ได้พักผ่อน ในหน่วยงานใดมีความพร้อมด้านใด ก็ส่งอุปกรณ์ อาหาร หรือแม้แต่คนทั่วไปก็ส่งใจไปช่วยกันอย่างไม่ขาดสาย แรงกายแรงใจเช่นนี้ จะเกิดไม่ได้เลยถ้าผู้บริหารไม่มีหลักวิธีหรือ การโน้มน้าวใจ ให้ทีมงานทำงานด้วยกันอย่างมีประสิทธิภาพ การสร้างทีมให้มีการทำงานเป็นทีมเป็นหัวใจที่สำคัญสำหรับผู้บริหารที่ต้องนำมาใช้ในการบริหารจัดการทำให้บรรลุเป้าหมายที่ทุกคนในทีมอยากเห็น เช่น ตอนที่ท่านผู้ว่าฯ แถลงข่าวการพบตัวน้อง 13 นักฟุตบอลทีมหมูป่า ทุกคนจะมีเสียงเฮ แสดงความดีใจสุดสุด แต่ ท่านผู้ว่ากล่าวว่าภารกิจยังคงดำเนินต่อไป จนกระทั่งเด็กสามารถอยู่ในสภาพที่ปกติทั้งร่างกายและจิตใจ..
บทเรียนที่สำคัญคือการเรียนรู้จากประสบการณ์ตรง บทเรียนภารกิจของผู้นำในการบริหารทีมงานที่มีความซับซ้อน มีวิกฤตอยู่ตลอดเวลา มีตัวแปรที่ควบคุมไม่ได้ เช่นสภาพอากาศ มีปัจจัยเสี่ยงมากมาย การตัดสินใจจึงเป็นเรื่องที่สำคัญสำหรับการขึ้นเป็นผู้บริหาร เพราะทุกวินาทีมีค่า และถ้าผู้นำหรือผู้บริหารตัดสินใจพลาดไป อาจทำให้สถานการณ์เลวร้ายกว่าที่คิด บทเรียนจากการช่วย 13 นักฟุตบอลทีมหมูป่า ติดถ้ำหลวง ขุนน้ำนางนอน จังหวัดเชียงราย เป็นบทเรียนแม่แบบที่ทำให้ผู้นำหรือผู้บริหารพึงคิดว่า ในการทำงานนั้น ผู้นำหรือผู้บริหารไม่สามารถที่จะเลือกสถานกาณ์ที่ตนเองชอบหรือที่ตนเองถนัดมาบริหาร แต่ต้องบริหารในทุกสถานการณ์ที่เข้ามาทุก ๆ วัน ให้ดีที่สุด โดยไม่มีข้อแม้ใด ๆ ทั้งสิ้น..
ดังคำที่ว่า..
“ไม่มีสถานการณ์ที่ดีที่สุดให้คุณเลือกบริหาร มีแต่คุณเท่านั้นเลือกที่จะทำให้สถานการณ์การบริหารนั้นให้ดีที่สุดได้อย่างไร?”
ฝากให้ผู้นำ หรือ ผู้บริหารองค์กรคิด เพื่อสร้างตนเป็น อัจฉริยะในการบริหารองค์กร
เกี่ยวกับผู้เขียน
ดร.สุรชัย โฆษิตบวรชัย
ผู้อำนวยการ หลักสูตรผู้จัดการอัจฉริยะ