การดึงคนให้อยู่กับองค์กรให้ได้นั้น มีตัวแปรอยู่หลายปัจจัย แต่ที่แน่ๆ คือมิใช่เรื่องเงินอย่างเดียวแน่นอน ซึ่งควรทำการประเมินและวิเคราะห์สาเหตุของปัญหาให้ได้เสียก่อน จึงจะสามารถแก้ปัญหาที่เกิดขึ้นได้ สำหรับสาเหตุหลักๆ ที่ทำให้พนักงานลาออกนั้น โดยทั่วไปสรุปได้ดังนี้
1. บริษัทอาจจ่ายเงินเดือนต่ำกว่าบริษัทข้างเคียง ทำให้พนักงานย้ายไปอยู่กับบริษัทหรือองค์กรที่ให้เงินเดือน ที่สูงกว่า ซึ่งถ้าจ่ายในระดับใกล้เคียงหรือต่ำกว่าเล็กน้อย ก็ไม่น่าจะเป็นปัญหาที่ทำให้พนักงานลาออก แต่ต้องระวังหากคิดจะปรับเพิ่มฐานเงินเดือน อาจกลายเป็นภาระขององค์กรในระยะยาว โดยควรพิจารณา ให้รอบคอบ เพราะเงินเดือนจะปรับขึ้นทุกปี แต่รายได้ของบริษัทอาจไม่เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องทุกปี ซึ่งหากเป็นเช่นนั้นแล้ว ในอนาคตตัวบริษัทหรือองค์กรเองจะมีปัญหาในเรื่องค่าใช้จ่ายด้านเงินเดือนพนักงาน
2. ทางบริษัทอาจจะให้สวัสดิการในมาตรฐานที่ต่ำกว่าบริษัทข้างเคียงมาก ทำให้พนักงานย้ายไปอยู่กับ บริษัทที่ให้สวัสดิการดีกว่า ซึ่งประเด็นนี้เป็นเรื่องของค่าตอบแทน ไม่ได้อยู่ในรูปของตัวเงิน ซึ่งเป็นเงิน ที่บริษัทต้องจ่ายออกไป พนักงานมักมองไม่เห็นภาระของบริษัทตรงนี้ การดูแลเรื่องสวัสดิการก็เป็นปัจจัย สำคัญอีกอย่าง ในการรักษาพนักงานให้อยู่กับบริษัท แต่ก็ไม่ใช่ปัจจัยที่ส่งเสริมให้พนักงานทุ่มเททำงาน ให้กับองค์กร เพราะฉะนั้นการจัดสวัสดิการควรคำนึงในเรื่องของกฎหมาย และความพอเหมาะพอควร เพื่อให้เทียบเท่ากับคู่แข่งได้เป็นหลักก็พอ ไม่จำเป็นต้องหรูหราฟุ่มเฟือยเหมือนบริษัทใหญ่ๆ ที่มีกำลัง ทรัพย์มากกว่า เหมือนกับการที่เรามีบ้านหลังเล็กๆ ที่น่าอยู่สมาชิกในบ้านก็มีความสุขได้โดยไม่จำเป็น ต้องไปแข่งกับคฤหาสถ์ที่อยู่ใกล้ๆ
3. สภาพแวดล้อมในการทำงานภายในบริษัทอาจจะร้อนไป หนาวไป สกปรก ฝุ่นเยอะหรือเปล่า มีสารเคมี อันตรายรั่วไหลฟุ้งกระจาย ดูแล้วจะเป็นอันตรายหรือเปล่า เพราะปัจจุบันนี้ก็ทราบกันอยู่แล้วว่าแหล่งจ้างงาน มีเยอะ โดยเฉพาะงานระดับปฏิบัติการซึ่งต้องแย่งคนกันเลย ดังนั้นคนทำงานก็มีทางเลือกเยอะ ไม่มีใคร เขาจะมาทนทำงานกับบริษัทที่สภาพแวดล้อมภายในไม่สวยงาม ดูอันตรายหรอก
4. ปัญหาอาจจะมาจากหัวหน้างาน ซึ่งหัวหน้างานของเราอาจไม่มีศาสตร์และศิลปะในการบริหาร ใช้คนไม่เป็น เน้นการดุด่า ซึ่งปัญหานี้เป็นปัญหาที่พบได้เกือบทุกองค์กร เนื่องจากเรามักจะแต่งตั้งหัวหน้างานขึ้นมา โดยไม่เตรียมความพร้อมให้เขา เขาอาจทำงานเก่งจริง แต่เมื่อต้องมารับบทบาทในการบริหารคน บางครั้ง ก็อาจจะทำตัวไม่ถูก เลยใช้สามัญสำนึกในการบริหาร ซึ่งหลายองค์กรก็พยายามแก้ไขปัญหาตรงนี้โดยการจัดฝึกอบรมทักษะการบริหารให้กับหัวหน้างาน
5. ลักษณะของงานที่ให้ทำอาจจะง่ายหรือยากไป ซึ่งประเด็นตรงนี้ต้องมีการพิจารณาอย่างรอบคอบว่า พื้นฐานความรู้ความสามารถของคนและงานที่เราเตรียมไว้ให้นั้น มันเหมาะสมกันหรือไม่ บางแห่งคาดหวังสูงโดยการกำหนดภาระงานไว้ค่อนข้างสลับซับซ้อนแต่รับเด็กจบ ม.3 ใหม่ๆ มาทำงาน ทำให้พนักงานเครียดและลาออกไป ในทางกลับกันการรับคนที่คุณสมบัติสูงเกินไปมาทำงานง่ายเกินไป ก็จะเกิดความเครียดและลาออกไปได้เช่นเดียวกัน
ประเด็นที่กล่าวมาในข้างต้นนั้นเป็นสาเหตุหลักๆ โดยทั่วไปที่ทำให้พนักงานลาออก ซึ่งแต่ละองค์กรควรทำ การศึกษาวิเคราะห์ในรายละเอียดของปัญหาเสียก่อนว่า พนักงานลาออกด้วยเหตุผลใด ซึ่งวิธีที่ใช้ในการเก็บข้อมูล ง่ายๆ และสามารถได้ข้อมูลที่ตรงประเด็นที่สุดก็คือ การสัมภาษณ์พนักงานที่ลาออก หรือ Exit Interview แต่การสัมภาษณ์ดังกล่าวต้องมีเทคนิค ไม่ใช่ถามกันตรงๆ ซึ่งโดยทั่วไปแล้วพนักงานเหล่านี้จะเกรงใจไม่ค่อยบอก ความจริง และเมื่อรวบรวมข้อมูลได้ในระดับหนึ่ง จะทำให้เห็นภาพชัดเจนยิ่งขึ้น ในเรื่องของสาเหตุที่พนักงานลาออก จากองค์กร หลังจากนั้นจึงทำการกำหนดวิธีแก้ไขปัญหาดังกล่าวอย่างตรงประเด็นและเป็นระบบ จึงจะทำให้ องค์กรหรือบริษัทสามารถลดปัญหาในเรื่องของพนักงานลาออกบ่อยได้ง่ายขึ้น
<img src="https://stepplustraining.com/wp-content/plugins/page-views-count/ajax-loader top weight loss supplements.gif” border=0 />