จริงหรือ?…พนักงานขายต้องมีวิสัยทัศน์
เรื่องของวิสัยทัศน์ (Vision) พนักงานขายหลายคนมองข้าม ไม่ให้ความสำคัญ บางคนถึงกับผลักภาระความรับผิดชอบตรงนี้ให้บริษัท หรือผู้บริหารระดับสูงไปเลยก็มี ไม่ผิดอะไรถ้าจะรู้สึกเช่นนั้น แต่ขอให้ตระหนักไว้ว่าในความรับผิดชอบในแต่ละระดับ ก็ควรจะทิศทางการทำงานที่สนับสนุนและเสริมวิสัยทัศน์(Vision) หลักของบริษัท
คำว่าวิสัยทัศน์ (Vision) เป็นการมองไปในอนาคตว่าเราอยากเป็นอะไร สมมุติง่ายๆ ว่า บ่อยครั้งที่ผู้ใหญ่จะถามเด็กว่า อยากเป็นอะไรในอนาคต บางคนอยากเป็นหมอ เป็นวิศวกร เป็นครู หรือเป็นอะไรก็แล้วแต่ ล้วนแล้วแต่เป็นความหวังในอนาคต ถ้าเป็นความหวังที่จริงจัง ก็จะทำให้เกิดผลที่ตามมาคือ มีความพยายามมากขึ้น อ่านหนังสือมากขึ้น เรียนพิเศษมากขึ้น เพื่อสอบให้ได้ตามที่ตนเองอยากเป็น แต่ถ้าเป็นเพียงคิดเล่น ๆ ก็จะไม่มีผลสัมฤทธิ์ใด ๆ บางครั้งอาจทำให้ให้เสียเวลาด้วยซ้ำ คือเสียเวลาที่ทำในสิ่งที่ตนไม่คิดจริงจัง สูญเสียโอกาสที่เกิดขึ้น
จึงมีคนกล่าวว่า วิสัยทัศน์ (Vision) คือ ความคาดหวังที่ตนเองอยาก จะเป็นในอนาคต ถ้าความคาดหวังนี้ขาดปัจจัยแห่งความสำเร็จรองรับ เช่นตนเองไม่มีความสามารถเพียงพอที่จะทำสิ่งนั้นๆ ความคาดหวังนี้ก็เป็นเพียงแค่ ความเพ้อฝัน และหนักๆ เข้าก็เป็นความเพ้อเจ้อ ในทางกลับกันถ้าความคาดหวังมีปัจจัยหลายๆ อย่างรองรับเพียงพอ คือพนักงานขายมีความรู้ที่จะเสนอขายสินค้าอย่างพอเพียง มีความพยายามที่จะสร้างความคาดหวังให้ประสบความสำเร็จอีก จึงเรียกได้ว่าเป็น วิสัยทัศน์ (Vision)
วิสัยทัศน์ (Vision) จำเป็นหรือไม่สำหรับงานขาย มีพนักงานขายหลายคนทำงานแบบไม่มีทิศทาง คือทุกวันเข้าบริษัท เคลียร์งานเอกสารเล็กน้อย โทรศัพท์หาลูกค้าเพื่อนัดหมาย พนักงานขายจำนวนไม่น้อยใช้ความพยายามโทรนัดหมายให้ได้ เพื่อตนเองจะได้มีโอกาสในการเข้าเยี่ยมลูกค้า ไม่ต้องอยู่บริษัทและไม่เป็นเป้าสายตาจากเจ้านาย และคนรอบข้างว่า ทำไม พนักงานขายถึงอยู่บริษัทนาน ไม่ออกตลาด พนักงานขายบางคนเลวร้ายมากกว่า คือไม่คิดแม้แต่จะโทรนัดลูกค้าก่อน เข้าถึงบริษัท ก็อ่านหนังสือพิมพ์ ดื่มกาแฟ จนสายถึงเริ่มออกหาลูกค้าโดยไม่นัดหมายมาก่อน การกระทำดังกล่าวมีแต่ข้อเสีย คือเสียเวลา เสียโอกาสในการที่จะหาลูกค้าใหม่ๆ และทำให้สูญเสียยอดขายในที่สุด แล้วอย่างนี้จะประสบความสำเร็จได้อย่างไร
การมีวิสัยทัศน์ (Vision) จึงเปรียบเสมือนเป็นจุดเริ่มการของการมีทิศทางการทำงาน (Work Direction) ให้มีความชัดเจนมากขึ้น มีการสร้างแผนงานรองรับเพื่อเป้าหมายที่ตนเองวางไว้ บางคนจึงมีความคิดถึงกระบวนการที่จะต้องทำต่อ มีแผนหลัก แผนรอง มีสิ่งที่ต้องทำอะไร? หรือที่เรียกว่า To Do ความเป็นจริง วิสัยทัศน์(Vision) จะไม่สำเร็จได้เลยถ้าขาด To Do ซึ่งเรียกว่าอีกอย่างหนึ่งว่า มิชชั่น (Mission) การเขียนหรือการวางมิชชั่น(Mission) จะเป็นอะไร ที่สอดคล้อง หรือสนับสนุนให้สำเร็จไปถึง วิสัยทัศน์ (Vision) ให้ได้ ตัวอย่างในงานขายที่เห็นได้ชัดคือคือการที่พนักงานขายมีความหวังที่จะเป็นพนักงานขายดีเด่นในปีนี้ ถ้าพนักงานขายคนนี้มีศักยภาพเพียงพอ เรียกได้ว่า วิสัยทัศน์ (Vision) ของพนักงานขายคือ “เป็นพนักงานขายดีเด่น” มิชชั่น(Mission) ของพนักงานขายต้องสอดคล้องกับวิสัยทัศน์ (Vision) คือพนักงานขายต้องเป็นมีความตั้งใจในการทำงาน เช่นมาทำงานเช้า ขยันเข้าพบลูกค้า ทำงานอย่างมีประสิทธิภาพเป็นต้น อย่างนี้ความสำเร็จก็อยู่ไม่ไกล วิสัยทัศน์ (Vision) ก็เป็นจริงได้ไม่ยาก การเขียนวิสัยทัศน์ (Vision)และ มิชชั่น(Mission) เป็นความจำเป็นของพนักงานขายยุคใหม่ทั้งนั้น แต่ร้อยทั้งร้อยพนักงานขายจะไม่มีทางประสบความสำเร็จได้เลยถ้า เพียงแต่เขียนให้คนอื่นอ่านหรือเพื่อแสดงให้เห็นว่าตนเองก็มีวิสัยทัศน์ (Vision) และ มิชชั่น(Mission) เช่นคนอื่นๆ แต่ไม่เคยนำสิ่งที่ตนเองเขียนมาทบทวนหรือปฏิบัติ ก็อย่ามาถามถึงความสำเร็จของงานขายของตนเอง ฝากไว้ด้วยครับ
โดย ดร.สุรชัย โษฆิตบวรชัย
www.stepplustraining.com